ประวัติ ศกร.ตำบลโพทะเล 1
ประวัติความเป็นมาของตำบล โพทะเล อำเภอโพทะเล ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2480 เดิมชื่อว่าอำเภอบางคลาน เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอโพทะเล เมื่อปี พ.ศ.2480 เนื่องจากที่ว่าการอำเภอบางคลาน ในขณะนั้นชำรุดทรุดโทรมมาก ทางราชการไม่มีงบประมาณเพียงพอ ดังนั้นขุนนรสรรค์สิทธินาถ (เพียร สิทธินาถ) นายอำเภอบางคลาน และหลวงนรัตถรักษา (ชื่น วิจิตรเนตร) ข้าหลวงประจำจังหวัดในขณะนั้นได้ประชุมร่วมกันกับประชาชน และขอให้ประชาชนช่วยกันสละทรัพย์ซ่อมแซมตัวอาคาร แต่พ่อค้าในตลาดบางคลานไม่ยินยอม มีนายประสงค์ รังสีวงษ์ พ่อค้าตลาดโพทะเลยื่นความจำนงที่จะสละทรัพย์ในการก่อสร้างที่ว่าการอำเภอโพทะเล และจะจัดหาที่ดินให้ก่อสร้างที่ว่าการอำเภอให้ อีกทั้งที่ว่าการอำเภอบางคลานไม่เป็นศูนย์กลางในการปกครอง การคมนาคม จึงได้พร้อมใจกัน ย้ายที่ว่าการอำเภอบางคลานไปอยู่ที่อำเภอโพทะเล อยู่ทางทิศเหนือขึ้นไป ประมาณ 15 กิโลเมตร ซึ่งเป็นที่ตั้งของเทศบาลโพทะเลในปัจจุบัน ต่อมาปี พ.ศ.2541 ย้ายที่ทำการไปที่ว่าการอำเภอในปัจจุบัน ตำบลโพทะเล ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร แต่เดิมมีต้นไม้ชนิดหนึ่งเป็นไม้ล้มลุก ลักษณะของดอกเป็นสีเทาขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก เรียกว่า ต้นโพทะเล ซึ่งเป็นที่มาของชื่อบ้านโพทะเล และเปลี่ยนชื่ออำเภอบางคลานเป็นอำเภอโพทะเลตามชื่อของหมู่บ้าน ภูมิประเทศส่วนใหญ่ของอำเภอเป็นที่ลุ่ม ราษฎรทั่วไปประกอบอาชีพด้านการเกษตร (ทำนา) เป็นหลักปีละประมาณ 2-3 ครั้ง แบ่งการปกครองออกเป็น 9 หมู่บ้าน ซึ่งบางส่วนอยู่ในเขตเทศบาลตำบลโพทะเล ได้แก่ หมู่ที่ 2,3,5,8 และหมู่ 9 โดยมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มมีแม่น้ำยมไหลผ่าน เหมาะกับการทำนาและการเกษตรกรรม และบางส่วนมีการทำสวนผลไม้ การเลี้ยงปลาเป็นอาชีพเสริม สามารถเพิ่มพูนรายได้ ให้กับครอบครัวได้อีกทางหนึ่ง ในช่วงฤดูฝนและฤดูน้ำหลาก น้ำมักท่วมบางส่วนของพื้นที่ ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ โดยมีหลวงพ่อเงินวัดบางคลาน และวัดท้ายน้ำ เป็นพระเกจิชื่อดังและเป็นที่รู้จักของคนทั่วประเทศทำให้ตำบลโพทะเล มีนักท่องเที่ยวแวะเวียนเข้ามาสักการบูชา อีกทั้งยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนตำบลโพทะเล มีประเพณีโขลกขนมจีนแบบโบราณที่สร้างความสัมพันธ์และความสามัคคีในชุมชน ซึ่งในช่วงเดือนเมษายนของทุกปีจะมีการเชิญหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกพื้นที่มาร่วมกิจกรรมประกวดแข่งขันโขลกขนมจีน ซึ่งประเพณีโขลกขนมจีนเป็นประเพณีประจำตำบลที่ชาวตำบลโพทะเลเป็นเจ้าภาพในการร่วมกันจัดงาน ทำให้เกิดความรักความสามัคคีในชุมชน โดยมีหน่วยงานทุกภาคีเข้าร่วมกิจกรรม